ประวัติ ของ พระพิทักษ์เจดีย์ (ถง รามางกูร)

พระพิทักษ์เจดีย์ (ถง) นามเดิมท้าวสุวันนะคำถงหรือท้าวคำถง พื้นเมืองพนมออกนามเจ้าพระพีพักคำถุงหรือยาพ่อพระพีพัก นามเต็มพื้นพระบาทใช้ชาติระบุว่า ...หลานตน ๑ มีซื่อว่าอุปปะละสูวัณณะคำถงก็ตื่มแถมยดว่าเจ้าพระพีพักเจดีสีปะริสัดขัดตติยะวงสา...[4] เป็นบุตรชายลำดับแรกและบุตรลำดับ ๒ ของท้าวอุปละ (มุง) หัวหน้าผู้ควบคุมท้าวเพี้ยตัวเลกข้าพระธาตุพนมกับนางจันทาวะดี เป็นหลานพระอุปละ (คำมั่น) กรมการ เป็นเหลนพระมหาสุระนันทากับนางแก้วอาไพธิดาเจ้าพระรามราชฯ (ราม) ขุนโอกาสธาตุพนมคนแรก[5] พ.ศ. ๒๔๑๗ เพี้ยอัคคะฮาชหรือท้าวอุปละ (มุง) บิดาถึงแก่กรรม ท้าวถงผู้บุตรเลื่อนเป็นท้าวอุปละควบคุมท้าวเพี้ยตัวเลกข้าพระธาตุพนมแทน ท้าวเพี้ยตัวเลกข้าพระสมัครทำราชการขึ้นมุกดาหารเป็นเลกฉกรรจ์ขึ้นใหม่ ๙๖๗ นครพนม ๕๓๑ สกลนคร ๒๒๗ รวม ๑,๗๗๕ คน ท้าวอุปละ (มุง) เกณฑ์ท้าวเพี้ยตัวเลกมาปฏิสังขรณ์พระธาตุพนมเจ้าเมืองกรมการเมืองนครพนม มุกดาหาร และสกลนครขัดขวางไม่ยอมส่งให้ตามจารีต[6]

ฟ้องกรมการมุกดาหาร

พ.ศ. ๒๔๒๑ ท้าวอุปละตั้งบ้านเรือนอยู่บ้านธาตุพนมขณะเป็นหัวหน้าหมวดเลกข้าพระธาตุพนมกล่าวฟ้องกรมการมุกดาหารลงกรุงเทพฯ ว่า เขตแดนมุกดาหารต่อแดนนครพนมหน้าองค์พระธาตุพนมให้มุกดาหารและนครพนมรักษามีข้าพระธาตุพนมเป็นเลกข้าพระ ยกเว้นไม่ต้องเก็บส่วยแต่มีหน้าที่ดูแลรักษาเกณฑ์สิ่งของ เช่น อิฐ ปูน ทราย กรวด บูรณะปฏิสังขรณ์พระธาตุพนม ต่อมา พ.ศ. ๒๔๑๕ ท้าวอุปละเกณฑ์อิฐ ปูน ทองคำเปลว น้ำรักกับตัวเลกเพื่อซ่อมแซมพระธาตุพนม เจ้าเมืองมุกดาหารจะจับตัวจำขังตะราง ฝ่ายกรุงเทพฯ มีท้องตราพระราชสีห์ให้อำแดงล่าหรืออาดยานางหล่าพี่สาวท้าวอุปละถือขึ้นมาถึงผู้รักษาราชการเมืองมุกดาหาร ว่าให้เร่งแต่งท้าวเพี้ยกรมการผู้ใหญ่รู้ราชการบ้านเมืองพาตัวท้าวอุปละลงกรุงเทพฯ พร้อมอำแดงล่าโดยเร็ว จะได้ให้ตระลาการชำระตัดสินให้แล้วแก่กัน[7]

วิวาทพระอัคร์บุตร

พ.ศ. ๒๔๒๒ ท้าวอุปละ (ถง) และพระอัคร์บุตร (บุนมี) บุตรเจ้าพระรามราชปราณีฯ (ศรี) ซึ่งมีศักดิ์เป็นปู่เพราะย่าทวดท้าวอุปละเป็นน้องสาวต่างมารดาเจ้าพระรามราชปราณีฯ (ศรี) วิวาทกันรุนแรง พระอัคร์บุตรอยากเป็นขุนโอกาสเพราะท้าวอุปละอายุน้อยและไม่ใช่บุตรขุนโอกาส มีเรื่องฟ้องร้องกันถึงกรุงเทพฯ พื้นพระบาทใช้ชาติระบุโดยละเอียดว่า ...พระยาทัมมิกะราดเจ้าตนมีบุรหนักจักเสกเอาลาดสะกุมมานเจ้าพระอักคคะบูตตะสูตตะสูวัณณะบุนมี แลว่าตนนี้อาดกว่าท้าวพระยาทังหลายว่าดังนี้ ว่าตนนี้แม่นหลานแลลูกพระยาเจ้าโอกาดสาสสะนานะครพระมะหาธาดตุเจ้าพระนมบุรรมมะสัถถานวิเสดแท้ดังนั้นแล จิงว่าเจ้าพระอุปปะละเกิดตามหลังบ่ให้เป็นใหย่ในกองข้อยน้อยใหย่ในเวียงพระมะหาธาดตุเจ้าแลว่าดังนั้นแล้วก็มีแท้ดีหลีแล...ทีนี้อุปปะละเจ้าคำถงก็จักมีใจเคียดจิงไปฟ้องเจ้าพระยาหลวงละคอร ๆ จักว่าความให้ยอมกันบ่ได้ด้วยเกงบุรปาระมีแห่งพระยาทัมมิกะราด จิงให้เจ้าทัง ๒ ตนลงไปเมืองบังกอกแลเฝ้าพระบาดเจ้าสีวิดก็มีแท้ดังนั้น พระเจ้าอัคคะบุตตตนอ้ายจักบ่ยอมด้วยบุรสมพพานแห่งพระยาทัมมิกะราดเจ้าแล จิงให้อาดยาพระอุปปะละคำถุงลงไปบังกอกแท้แล เจ้าจิงวิวาดใส่ความเจ้าพระยาละครบังมุกแลสะกลละคอรหนองละหานด้วยใจเคียดแท้ดังนั้น ฝ่ายตนผู้พี่จิงได้นั่งอยู่เป็นใหย่ในเวียงแก้วพระมะหาธาดตุเจ้าพระนมบุรมมะเจดีหัวอกพระพุทธะเจ้าแท้ดีหลีแล ว่าอั้นแล้วสาสสะนาบ้านเมืองจักเกิดโกละหนวุ่นวายยิ่งนัก พระยาทัง ๓ ก็มาวิวาดแลจักลบเลวกันแท้ดังนั้น ตนอ้ายเฮวตนน้อง ตนน้องเฮวตนอ้าย เจ้าเลวข้อย ไพ่เลวขุร พระยาเลวท้าว เพียเลวกวาน ผู้น้อยเลวผู้ใหย่ หลานเลวปู่ ลูกเลวพ่อ สิดเลวคู คะหัดเลวสังฆะ...[8]

ฟ้องเจ้าเมืองทั้งสาม

พ.ศ. ๒๔๒๒ ปีเถาะ ท้าวอุปละเดินทางลงกรุงเทพฯ เขียนคำร้องทุกข์กราบทูลสมเด็จพระเจ้าบรมวงษ์เธอ เจ้าฟ้ามหามาลา กรมพระยาบำราบปรปักษ์ สำเร็จราชการกรมมหาดไทย ว่าเจ้าเมืองกรมการเมืองมุกดาหาร นครพนม สกลนคร ขัดเอาท้าวเพี้ยตัวเลกข้าพระธาตุพนมไม่ให้มาซ่อมแซมปฏิสังขรณ์พระธาตุพนม เจ้าเมืองกรมการ ๓ เมืองเก็บเงินส่วยข้าวถังกับตัวเลกข้าพระธาตุพนมหรือพระเจ้าทาษพนมทุกปีไม่ขาด เมื่อร้องทุกข์แล้วสมเด็จฯ เจ้าฟ้ามหามาลาฯ โปรดฯ แต่งตั้งท้าวอุปละเป็นพระพิทักษ์เจดีย์นายกองข้าพระธาตุพนมเพื่อให้อำนาจปกครองเต็มที่[9]

เป็นพระพิทักษ์เจดีย์

พ.ศ. ๒๔๒๓ สมเด็จฯ เจ้าฟ้ามหามาลาฯ มีท้องตราถึงเจ้าเมืองมุกดาหารและนครพนมว่า ...ด้วยท้าวอุปละ (ถง) ท้าวเพี้ยข้าพระธาตุพนมลงไปทำเรื่องราวกล่าวโทษเจ้าเมืองมุกดาหารเจ้าเมืองนครพนมว่า กดขี่ข่มเหงกะเกณฑ์ใช้สอยถึงปีก็เก็บเอาข้าวเปลือกไปเป็นอาณาประโยชน์ตัวเลกข้าพระธาตุพนมได้รับความเดือดร้อน ความทั้งนี้จะเท็จจริงอย่างไรไม่แจ้งแต่ท้าวอุปละกับครอบครัวตัวเลกรายนี้ก็ปรนนิบัติรักษาพระอารามเจดีย์พระธาตุพนมมาช้านานหลายเจ้าเมืองแล้ว ถ้าจะไม่ตั้งเป็นหมวดเป็นกองไว้ท้าวเพี้ยตัวเลกข้าพระธาตุจะพากันโจทย์ไปอยู่ต่างบ้านต่างเมือง เลกข้าพระธาตุพนมก็จะร่วงโรยเบาบางลงจะเสียไพร่พลเมือง การปฏิสังขรณ์วัดวาอารามก็ไม่เป็นที่รุ่งเรืองขึ้นเหมือนแต่ก่อน พระจันทรสุริยวงษ์พระพนมนครานุรักษ์กรมการก็พลอยเสียชื่อเสียงไป หัวเมืองทั้งปวงก็จะว่ากล่าวติเตียนไปต่าง ๆ หาควรไม่ จึงให้ตั้งท้าวอุปละเป็นพระพิทักษ์เจดีย์นายกองควบคุมท้าวเพี้ยสำมะโนครัวตัวเลกญาติพี่น้องในหมวดท้าวอุปละ เป็นกองขึ้นเมืองมุกดาหารเมืองนครพนมแผนกหนึ่ง เป็นคนชรา ๘๔ พิการ ๔๘ ท้าว ๑๓ เพี้ย ๑๑๔ พระ ๔ หลวง ๒๖ เสมียน ๔ ทนาย ๙ รวม ๑๗๐ คน ชายฉกรรจ์ ๕๗๙ โสด ๔๕ ทาส ๖๔ รวม ๖๘๘ ครัว ชายหญิง ๑,๗๓๘ รวม ๒,๗๒๘ คน และให้พระพิทักษ์เจดีย์นายกองฟังบังคับบัญชาพระจันทรสุริยวงษ์เจ้าเมืองมุกดาหาร พระพนมนครานุรักษ์เจ้าเมืองนครพนมแต่ที่ชอบด้วยราชการ... [10]

กองขึ้นเมืองมุกดาหารและนครพนม

แบบแผนปกครองสยามต่อหัวเมืองลาวจัดหมู่บ้านมีนายหมู่เป็นหัวหน้า หลายหมู่บ้านเป็นหมวดมีนายหมวดเป็นหัวหน้า หลายหมวดเรียกกองมีนายกองเป็นหัวหน้า มุกดาหารมีกองนอกกองส่วยรวม ๔ กอง กองนอก ๑ กองส่วย ๓ ธาตุพนมมีฐานะเป็นกองนอกเรียกกองข้าพระธาตุพนม ไม่ขึ้นมุกดาหารโดยตรงแต่อยู่ในความดูแลมุกดาหารและนครพนมร่วมกัน เนื่องจากแดนเมืองทั้ง ๒ แบ่งกันที่หน้าพระธาตุพนม หัวหน้ากองบรรดาศักดิ์พระพิทักษ์เจดีย์ ปลัดกองบรรดาศักดิ์หลวงโพธิ์สาราช พลเมืองเป็นเลกข้าพระเว้นไม่เสียส่วย แต่ถูกเกณฑ์อิฐ หิน ปูน ทราย แรงงาน สำหรับบูรณะปฏิสังขรณ์พระธาตุพนม อยู่เวรยามถวายข้าวปลาอาหารดอกไม้ธูปเทียนบรรเลงดนตรีถวายพระธาตุพนม ถูกยกเลิกปลาย ร. ๕[11] อีก ๓ กองคือกองบ้านไผ่อยู่เขตเมืองชุมพร (จำพอนแก้งกอก) แขวงสุวรรณเขต นายกองบรรดาศักดิ์หลวงสุริยวงษาส่งส่วยหมากแหน่ง (ผลเร่ว) ปีละ ๑๐ หาบหลวง กองบ้านผึ่งแดดเป็นหมู่บ้านใหญ่ใน ลาว นายกองส่วยบรรดาศักดิ์ท้าวโพธิสารส่งส่วยหมากแหน่งปีละ ๑๔ หาบหลวง และกองส่วยบ้านโคก แขวงสุวรรณเขต นายกองส่วยบรรดาศักดิ์พระรัษฎากรบริรักษ์ ปลัดกองบรรดาศักดิ์หลวงพิทักษ์สุนทร[12]